วันที่ 1 ก.ย. 2567 สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ทางด้านท้ายเขื่อน เพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาสมทบ อีกทั้งยังมีการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาปราการด่านสุดท้ายที่เป็นกุญแจสำคัญก่อนน้ำเข้าสู่กรุงเทพฯ
ซึ่งตอนนี้แม้ว่าจะเร่งระบายมวลน้ำก้อนมหึมาที่มาจากอุทกภัยทางภาคเหนือจะเป็นการระบายแบบขั้นบันได แต่ยังมีฝนที่ตกอยู่อย่างต่อเนื่อง คอยเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น ตามฤดูกาลจังหวัดท้ายเขื่อนบางพื้นที่เริ่มมีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมกันบ้างแล้ว
สำหรับปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2อ.เมืองจ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,489ลบ.ม/วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยาอ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.21เมตร/รทก.มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่12.46เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 4.24 เมตรและเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่1,399ลบ.ม/วินาที ตรึงการระบายน้ำแตะ1,400ลบ.ม/วินาทีเป็นวันที่สองตามแผนกรมชลประทาน
ซึ่งการคงอัตราการระบายน้ำในอัตรานี้จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ริมคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ระดับน้ำจะยกตัวขึ้น 10-15 เซ็นติเมตรใน 24 ชม.ข้างหน้า บ้านเรือนในพื้นที่ดังกล่าวจึงควรยกของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และติดตามประกาศทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไป
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้กรมชลประทาน ก็ยังขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำในพื้นที่ 11 จังหวัดของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ แก่จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครฯ ยังคงต้องเฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด