แจกเงินดิจิทัล 10,000 บ. รายละเอียดล่าสุด.

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีการหารือรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระบบที่จะใช้ในการแจกเงินในโครงการนี้ เคาะวันนับยอดเงินฝาก-อายุ-รายได้

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดรายละเอียดเกณฑ์ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดังนี้

เกณฑ์อายุ 16 ปี

กำหนดให้จะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 หรือต้องเกิดก่อน 1 ตุลาคม 2551

เกณฑ์เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท

นับยอดเงินฝากทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก ผลิตภัณฑ์เงินฝาก

นับยอดบัญชีเงินฝากถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

เงินฝากดังกล่าว ต้องเป็นเงินฝากสกุลเงินบาทเท่านั้น

ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์

รายละเอียดอื่น ยังคงเดิม

สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเป็นไปตามเดิม ดังนี้

การลงทะเบียนจะเริ่มต้นภายในไตรมาส 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 (เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป) นั่นเท่ากับว่าทุกคนจะเริ่มได้ใช้เงิน 10,000 บาททันที ย้ำไม่มีเลื่อนอีกแล้ว

เกณฑ์ซื้อสินค้า ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิม ยกเว้นบริการและสินค้าต้องห้าม (สินค้าที่ยกเว้น คือ สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม)

เกณฑ์ร้านค้าขนาดเล็ก ยังเป็นเหมือนเดิม เข้าร่วมได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา (ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต)

ขณะเดียวกัน ในการประชุมอนุกรรมการฯ วันนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับสินค้า Negative List ยังไม่มีการพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน หารือเรื่องระบบ โดยจะใช้แอปพลิเคชั่น ทางรัฐ ในการใช้จ่ายโครงการ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ละเอียดเพื่อให้ประชาชนที่สามารถเข้ามาใช้ได้อย่างเข้าใจ ไม่เป็นอุปสรรค รวมทั้งยังมีการหารือเรื่องข้อมูล การตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายการทุจริตในโครงการ พร้อมแต่งตั้งอนุกรรมการติดตามการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลตผิดประเภท เพื่อป้องกันข้อกังวลต่าง ๆ